หน่วยที่ 2 หลักการและวิธีการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ

กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ

กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบรรยาย การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การประมวลผล การจัดเก็บ การจัดการหรือการกระทำกับข้อมูลข่าวสาร โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ  ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้สารสนเทศหรือความรู้ที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และเผยแพร่แก่ผู้อื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกัน

กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ดี มีขั้นตอนดังนี้

  1. การรวบรวมข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่ต้องการจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูลมารวมกันด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้กลุ่มเป้าหมายช่วยตอบแบบสอบถามที่ตนเองคิดขึ้นมา  การอ่านรหัสแท่งจากแถบรหัสสินค้า  หรืออ่านข้อมูลจากการฝนดินสอลงในกระดาษคำตอบในการทำข้อสอบ  เป็นต้น
  2. การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เป็นการนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มาตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องด้วยการใช้สายตามนุษย์หรือตั้งกฎเกณฑ์ให้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  เหมาะสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
  3. การประมวลผลข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่ได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องแล้วมาทำการประมวลผลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดกลุ่ม  จัดเรียงตามตัวอักษร  และเปรียบเทียบหรือคำนวณข้อมูล เพื่อให้ได้ผลสรุปที่เป็นสารสนเทศและนำไปใช้งานได้
  4. การจัดเก็บ เป็นการนำสารสนเทศที่ทำการประมวลผลแล้ว มาจัดเก็บในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์  หรือสื่อบันทึกชนิดอื่น ๆ เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี  หน่วยความจำแบบแฟลซ (แฟลซไดรฟ์) เป็นต้น
  5. การทำสำเนา เป็นการนำสารสนเทศที่จัดเก็บไว้มาทำสำเนาเพื่อสำรองสารสนเทศไว้ใช้หากข้อมูลต้นฉบับเกิดการสูญหาย และสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น  การถ่ายเอกสารเก็บไว้ในแฟ้ม  การทำสำเนาลงในแผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี  หรือหน่วยความจำแบบแฟรซ  เป็นต้น
  6. การเผยแพร่สารสนเทศ เป็นการนำสารสนเทศไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นได้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ลงเว็บไซต์สาธารณะ กระดานสนทนา ทำแผ่นพับหรือใบปลิว ทำสำเนาลงในสื่อบันทึกข้อมูล วางไว้ในสถานที่ที่หยิบง่าย  จัดป้ายนิเทศในบริเวณที่เป็นจุดสนใจหรืองานนิทรรศการ  เป็นต้น

ใส่ความเห็น