หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นแบบแผนความประพฤติหรือความสำนึกต่อสังคมในทางที่ดีเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคมอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว  ขึ้นอยู่กับการยอมรับทางสังคมของสังคมนั้น ๆ เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวข้องกับความคิด  และตัดสินใจได้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรปฏิบัติ ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ความเป็นส่วนตัว หมายถึง สิทธิ์ส่วนตัวของบุคคล หน่วยงาน หรือ องค์กร ที่จะคงไว้ซึ่งสารสนเทศที่มีอยู่ โดยให้เปิดเผยหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือเผยแพร่ได้หรือไม่ หากมีการนำไปใช้ จะมีการจัดการกับสิทธิ์ดังกล่าวอย่างไร

ความเป็นส่วนตัวนี้มักพบเห็นได้จากผู้ให้บริการข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ให้ใช้บริการฟรี  เช่น บริการฟรีอีเมล บริการพื้นที่เก็บข้อมูล บริการใช้งานโปรแกรมฟรี ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะเข้าใช้งานจำเป็นต้องกรอกให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของตนเองเสียก่อน จึงจะสามารถเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ และใช้งานได้เต็มรูปแบบ

2. ความถูกต้องแม่นยำ หมายถึง ความเป็นจริงและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า ข้อมูลและสารสนเทศนั้น มีการกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้

3. ความเป็นเจ้าของ หมายถึง สิทธิ์โดยชอบในการแสดงความเป็นเจ้าของข้อมูลหรือสารสนเทศของบุคคลหรือบริษัทผู้ผลิต การนำข้อมูลหรือสารสนเทศไปเผยแพร่ ลอกเลียน หรือทำซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดสิทธิ์ของความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายและต้องรับโทษ

4. การเข้าถึงข้อมูล หมายถึง การปฏิบัติตนเพื่อเข้าใช้ข้อมูลหรือสารสนเทศในเว็บไซต์ของบุคคลหรือบริษัทบางแห่งที่มีการกำหนดสิทธิ์ของผู้เข้าใช้เป็นระดับต่าง ๆ ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลที่ต้องการมาให้ได้ทั้งหมด ผู้ใช้ที่ดีไม่ควรลักลอบเข้าไปใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่พยายามก่อกวนหรือเข้าไปกระทำการอันจะส่งผลเสียหายใด ๆ รวมถึงปกป้องไม่ให้สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของตนเองตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี  เช่น ไม่ควรบอกชื่อเข้าใช้และรหัสผ่านในอีเมลของตนเองแก่ผู้อื่น ไม่ควรบอกรหัสผ่านเอทีเอ็มของธนาคารที่เราเปิดบัญชีแก่ผู้อื่น เป็นต้น

ใส่ความเห็น