หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

มารยาท ระเบียบ  และข้อบังคับในการใช้อินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตเป็นบริการสาธารณะที่มีผู้ใช้จำนวนมาก จึงต้องมีมารยาท ระเบียบ และข้อบังคับในการใช้  ให้ผู้เข้ามาใช้บริการปฏิบัติร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง การละเมิดลิขสิทธิ์ การก่อความเสียหายต่อตัวบุคคล ซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

1. การใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะบุคคลที่เข้าไปใช้บริการต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1.1 ด้านการติดต่อสื่อสารบนเครือข่าย ประกอบด้วย

  • ไม่ควรนำชื่อบัญชี และรหัสผ่าน ของผู้อื่นมาใช้ และนำข้อมูลของผู้อื่นไปกรอกแบบฟอร์มต่าง ๆ
  • เก็บรักษารหัสผ่านของตนเองเป็นความลับ และเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ ๆ
  • ประหยัดเวลาการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโดยวางแผนการใช้งานไว้ล่วงหน้า
  • เลือกถ่ายโอนข้อมูลและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ตามที่ใช้งานจริงเท่านั้น
  • ก่อนเข้าใช้บริการต่าง ๆ ต้องศึกษา กฎ ระเบียบ ข้อกำหนด รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละเครือข่ายที่ต้องการใช้งาน

1.2 ด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้ ประกอบด้วย

  • ใช้ภาษาที่สุภาพในการติดต่อสื่อสารและใช้คำให้ถูกความหมาย เขียนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
  • ใช้ข้อความที่สั้น กะทัดรัด เข้าใจง่าย
  • ไม่นำความลับ หรือเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาเป็นหัวข้อสนทนา รวมทั้งไม่ใส่ร้ายหรือทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ดูถูกเหยียดหยามศาสนา วัฒนธรรมและความเชื่อของผู้อื่น
  • สอบถามความสมัครใจของผู้ที่ติดต่อสื่อสารด้วยก่อนที่จะส่งแฟ้มข้อมูลหรือซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ไปให้
  • ไม่ส่งจดหมายลูกโซ่ผ่านทางไปรษณีย์อีเล็กทรอนิกส์ไปก่อความรำคาญและเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

1.3 ด้านการใช้ข้อมูลในเครือข่าย ประกอบด้วย

  • เลือกใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งที่มาของผู้เผยแพร่และสถานที่ที่ติดต่อได้
  • ต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ และไม่แอบอ้างผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
  • ไม่นำข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต

1.4 ด้านระยะเวลาในการใช้บริการ ประกอบด้วย

  • เปิดโอกาสให้ผู้ใช้คนอื่นได้ใช้งานบ้าง ในกรณีที่เป็นอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีจำนวนเครื่องที่เปิดให้ใช้งานน้อย
  • ติดต่อกับเครือข่ายเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการใช้งานจริงเท่านั้น


2. การใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล
มีดังนี้

2.1 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และข่าวสารต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่บนเครือข่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง
2.2 ใช้ภาษาที่สุภาพและเป็นทางการในการเผยแพร่สิ่งต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต และ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้ใช้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
2.3 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมอันดี รวมทั้งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น และข้อมูลที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
2.4 บีบอัดภาพหรือข้อมูลขนาดใหญ่ก่อนนำไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตเพื่อประหยัดเวลาในการดึงข้อมูลของผู้ใช้
2.5 ระบุแหล่งที่มา วันเดือนปีที่ทำการเผยแพร่ข้อมูล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้เผยแพร่ รวมทั้งควรมีคำแนะนำ และคำอธิบายการใช้ข้อมูลที่ชัดเจน
2.6 ระบุข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ให้ชัดเจนว่าเป็นโฆษณา ข่าวลือ ความจริง หรือความคิดเห็น
2.7 ไม่เผยแพร่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งโปรแกรมของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
2.8 ไม่ส่งข้อมูลข่าวสารหรือซอฟต์แวร์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ไปให้ผู้อื่นหรือเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ต

 

หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ผลกระทบของการใช้อินเทอร์เน็ตกับสังคม

อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว  โดยเป็นแหล่งสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศต่างๆ  ซึ่งข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านบวกที่มีประโยชน์  และผลกระทบด้านลบที่สร้างความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจและการดำรงชีวิตของผู้ใช้ ดังนี้

ตารางที่ 3.4 ผลกระทบของการใช้อินเทอร์เน็ตกับสังคม

ผลกระทบในด้านบวก ผลกระทบในด้านลบ
1. เกิดความเสมอภาคในการับรู้ข่าวสารเพราะมีเครือข่ายโยงใยทั่วโลก

2. มีความรู้หลากหลายและกว้างขวาง  จากการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ

3. ทันสมัย  ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน  จากความรู้ที่จากการอ่านข่าวสาร  บทความในอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ

4. ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง

5. มีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนและตัดสินใจด้านการเรียน  การทำงาน  และการดำรงชีวิต

 

 

 

 

1. เมื่อได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา  การทำผิดกฎหมาย  การติดสารเสพติดเป็นประจำ  โดยไม่มีผู้แนะแนวการปฏิบัติตนที่เหมาะสมให้  อาจนำพฤติกรรมเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้

2. สายตาเสียเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน

3. การเรียนตกต่ำ  หากหมกมุ่นในการเล่นเกม  และสนทนาผ่านเครือข่ายเป็นเวลานาน  โดยไม่สนใจทำการบ้านและอ่านหนังสือเรียน

4. การสนทนาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยไม่บอกผู้ปกครอง  อาจถูกล่อลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ง่าย

5. คอมพิวเตอร์อาจเสียหายได้เนื่องจากดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์มาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์

6. มีอารมณ์ซึมเศร้าและขาดสัมพันธภาพที่ดีต่อคน
รอบข้าง  หากใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานโดยไม่ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

ผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบจากการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าว  เป็นข้อมูลซึ่งผู้ใช้ทุกคนควรนำมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน  ก่อนใช้งานอินเทอร์เน็ตตามแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นแบบแผนความประพฤติหรือความสำนึกต่อสังคมในทางที่ดีเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคมอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว  ขึ้นอยู่กับการยอมรับทางสังคมของสังคมนั้น ๆ เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวข้องกับความคิด  และตัดสินใจได้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรปฏิบัติ ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ความเป็นส่วนตัว หมายถึง สิทธิ์ส่วนตัวของบุคคล หน่วยงาน หรือ องค์กร ที่จะคงไว้ซึ่งสารสนเทศที่มีอยู่ โดยให้เปิดเผยหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือเผยแพร่ได้หรือไม่ หากมีการนำไปใช้ จะมีการจัดการกับสิทธิ์ดังกล่าวอย่างไร

ความเป็นส่วนตัวนี้มักพบเห็นได้จากผู้ให้บริการข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ให้ใช้บริการฟรี  เช่น บริการฟรีอีเมล บริการพื้นที่เก็บข้อมูล บริการใช้งานโปรแกรมฟรี ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะเข้าใช้งานจำเป็นต้องกรอกให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของตนเองเสียก่อน จึงจะสามารถเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ และใช้งานได้เต็มรูปแบบ

2. ความถูกต้องแม่นยำ หมายถึง ความเป็นจริงและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า ข้อมูลและสารสนเทศนั้น มีการกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้

3. ความเป็นเจ้าของ หมายถึง สิทธิ์โดยชอบในการแสดงความเป็นเจ้าของข้อมูลหรือสารสนเทศของบุคคลหรือบริษัทผู้ผลิต การนำข้อมูลหรือสารสนเทศไปเผยแพร่ ลอกเลียน หรือทำซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดสิทธิ์ของความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายและต้องรับโทษ

4. การเข้าถึงข้อมูล หมายถึง การปฏิบัติตนเพื่อเข้าใช้ข้อมูลหรือสารสนเทศในเว็บไซต์ของบุคคลหรือบริษัทบางแห่งที่มีการกำหนดสิทธิ์ของผู้เข้าใช้เป็นระดับต่าง ๆ ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลที่ต้องการมาให้ได้ทั้งหมด ผู้ใช้ที่ดีไม่ควรลักลอบเข้าไปใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่พยายามก่อกวนหรือเข้าไปกระทำการอันจะส่งผลเสียหายใด ๆ รวมถึงปกป้องไม่ให้สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของตนเองตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี  เช่น ไม่ควรบอกชื่อเข้าใช้และรหัสผ่านในอีเมลของตนเองแก่ผู้อื่น ไม่ควรบอกรหัสผ่านเอทีเอ็มของธนาคารที่เราเปิดบัญชีแก่ผู้อื่น เป็นต้น

หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

การสนทนาผ่านเครือข่าย

การติดต่อสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต  นอกเหนือจากการใช้อีเมลแล้ว ยังสามารถสนทนาพูดคุยกันได้  โดยใช้ซอฟต์แวร์ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น พิมพ์ข้อความผ่านคีย์บอร์ดที่เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือแผงแป้นอักขระบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟน การพูดคุยผ่านไมโครโฟน  และการพูดคุยผ่านเว็บแคม ซึ่งสามารถมองเห็นหน้าตาผู้สนทนา  รวมถึงสามารถส่งข้อความ ไฟล์เอกสาร  ภาพ และเสียงไปให้คู่สนทนาขณะพูดคุยกันได้  เป็นต้น

โปรแกรมติดต่อสื่อสารที่ใช้สนทนาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ได้รับความนิยม เช่น ไลน์ (Line) สไกป์ (Skype) แทงโก (Tango)

ตัวอย่างการสนทนาบนเครือข่ายด้วยโปรแกรมไลน์ มีขั้นตอนดังนี้

  1. ดับเบิลคลิกที่ไอคอน Logo_Line2
  2. เข้าใช้งานโปรแกรมไลน์ โดยพิมพ์ชื่อและรหัสผ่าน จากนั้นคลิกปุ่ม เข้าสู่ระบบ
  3. คลิก  Logo_Line  เพื่อเริ่มสนทนา
  4. พิมพ์ข้อความที่ต้องการส่ง แล้วกดปุ่ม Enter
  5. หากต้องการส่งอิโมจิ หรือสติกเกอร์ ให้คลิก  Logo_Line3  แล้วคลิกเลือกภาพที่ต้องการส่ง
  6. หากต้องการพูดคุยผ่าน Call หรือ Video Call  ให้คลิกปุ่ม  Logo_Line4

3-5

ภาพที่ 3.5 ขั้นตอนการสนทนาผ่าน Line

หน่วยที่ 3 การค้นหา และติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

การสืบค้นข้อมูลโดยใช้โปรแกรมเรียกค้นข้อมูล (search engine)

การสืบค้นข้อมูลโดยใช้โปรแกรมเรียกค้นข้อมูล (search engine) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายให้สืบค้น  ทั้งข่าวสาร  บทความ  รูปภาพ  เพลง  มิวสิกวิดีโอ  แผนที่  ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สืบค้น  โดยการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการแบบประหยัดเวลานั้น  ต้องทราบแหล่งที่มีข้อมูล  วิธีการสืบค้นและมีโปรแกรมเรียกค้นข้อมูล

เซิร์ซเอนจิน (search engine) เป็นโปรแกรมเรียกค้นข้อมูลหรือโปรแกรมช่วยสืบค้นข้อมูลที่เก็บไว้ในเว็บไซต์ต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โดยทั่วไปลักษณะการสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตสามารถแบ่งลักษณะรูปแบบการค้นหาเป็น
3 ลักษณะ คือ

1. Web Directory คือ การค้นหาโดยการเลือก Directory ที่จัดเตรียมและแยกหมวดหมู่ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบรรจุเนื้อหาหรือเว็บไซต์ต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่หรือกลุ่มใหญ่ ๆ และแต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับหลักการจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุด ข้อดีคือ ช่วยให้ผู้ใช้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ เนื่องจากนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระบบ และสามารถกำหนดค้นได้ง่ายในหัวข้อโดยเลือกจากรายการที่ทำไว้แล้ว website ที่ให้บริการ web directory เช่น http://www.yahoo.com, http://www.sanook.com

2. Metasearch คือ ลักษณะการสืบค้นหาข้อมูลจะมีลักษณะเดียวกันกับ search engine แต่จะทำการส่งคำที่ต้องการไปค้นหาในเว็บไซต์ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูลอื่นๆ อีก ถ้าข้อมูลที่ได้มีซ้ำกัน ก็จะแสดงเพียงรายการเดียว   จุดเด่นของการค้นหาด้วยวิธีการนี้ คือ สามารถเชื่อมโยงไปยัง Search Engine ประเภทอื่นๆ และยังมีความหลากหลายของข้อมูล แต่การค้นหาด้วยวิธีนี้มีจุดด้อย คือ วิธีการนี้จะไม่ให้ความสำคัญกับขนาดเล็กใหญ่ของตัวอักษร และมักจะผ่านเลยคำประเภท Natural Language (ภาษาพูด) ดังนั้น หากจะใช้ Search Engine ประเภทนี้จะพบกับข้อบกพร่องเหล่านี้ด้วย

3.  การค้นหาแบบดัชนี (Index) หรือ สำคัญ (Keyword)  คือ การค้นหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Search โดยการเอาคำที่เราต้องการค้นหาไปเทียบกับเว็บไซต์ต่างๆ ว่ามีเว็บไซต์ใดบ้างที่มีคำที่เราต้องการค้นหา  โดยการค้นจากข้อความในเว็บเพจที่ได้ผ่านการสำรวจมาแล้ว จะอ่านข้อความ ประมาณ 200-300 ตัวอักษรแรกของเว็บเพจ วิธีการค้นหาของ Search Engine ประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับการเรียงลำดับข้อมูลก่อนหลัง  การค้นหาข้อมูล การค้นหาวิธีนี้จะมีความรวดเร็วมาก แต่มีความละเอียดในการจัดแยกหมวดหมู่ของข้อมูลค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงรายละเอียดของเนื้อหาเท่าที่ควร แต่ถ้าต้องการแนวทางด้านกว้างของข้อมูล การค้นหาแบบนี้จะเหมาะสมที่สุด  website ที่ให้บริการ search engine  เช่น http://www.google.co.th

ขั้นตอนการสืบค้นข้อมูล

ขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลด้วยโปรแกรม Search Engine โดยใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://www.google.com สามารถใช้งานได้ดังนี้

  1. เปิดเว็บเพจกูเกิล โดยพิมพ์ http://www.google.co.th ลงในช่อง Address แล้วกดปุ่ม Enter
  2. พิมพ์คำค้นหาหรือคำสำคัญ (keyword) ที่ต้องการสืบค้นข้อมูลลงในช่องว่าง
  3. คลิกปุ่มคำสั่ง ค้นหา หรือ กดปุ่ม Enter
  4. คลิกเลือกเว็บไซต์ที่ต้องการสืบค้นข้อมูล แล้วจะปรากฏรายละเอียดข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นั้น ๆ
  5. คลิกปุ่มคำสั่ง “แผนที่” “ค้นรูป” “วิดีโอ” จะแสดงผลการค้นหาตามคำสั่งนั้นๆ

3-4

ภาพที่ 3.4 ขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลด้วย http://www.google.com