หน่วยที่ 4 การใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

การจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อมาใช้งาน

การจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อมาใช้งาน สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • แบบสำเร็จรูป (Packaged or Ready-Made Software) เป็นวิธีที่ผู้ใช้งานซื้อได้จากตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตได้โดยตรง ซึ่งมักจะมีการเตรียมบรรจุภัณฑ์และเอกสารคู่มือการใช้งานไว้อยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานได้โดยทันที กรณีที่ไม่สามารถเลือกซื้อผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายได้ อาจเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์นั้นๆ แล้วกรอกข้อมูลรายการชำระเงินผ่านแบบฟอร์มบนเว็บ เมื่อรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายชำระเงินของผู้ซื้อได้รับการอนุมัติแล้ว ก็สามารถดาวน์โหลดเอาซอฟต์แวร์มาใช้งานได้ทันที
  • แบบว่าจ้างทำ (Customized or Tailor-Made Software) เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับองค์กรที่มีลักษณะงานเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถนำโปรแกรมสำเร็จรูปมาประยุกต์ใช้ได้ ดังนั้น จึงต้องผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง โดยให้บุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำการผลิตซอฟต์แวร์ให้ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ วิธีการนี้อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบสำเร็จรูปพอสมควร แต่การทำงานของซอฟต์แวร์จะสอดคล้องตรงกับความต้องการได้ดีที่สุด
  • แบบทดลองใช้ (Shareware) เป็นวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้ผลิตโปรแกรมที่ปรับลดคุณสมบัติบางอย่างลงไป เพื่อให้มีการกำหนดระยะเวลาการทดลองใช้งาน เช่น ใช้ได้ภายใน 30 วัน ใช้ภายใน 90 วัน เป็นต้น หากผู้ใช้ทดลองใช้แล้วและตัดสินใจว่าดี ตลอดจนเหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ ผู้ใช้สามารถสั่งซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปแบบเต็มๆ จากบริษัทผู้ผลิตได้ต่อไป
  • แบบใช้งานฟรี (Freeware)เป็นโปรแกรมที่แจกให้ใช้ฟรี เพื่อตอบสนองกับการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ผลิต ส่วนใหญ่เป้าหมายของผู้ผลิต คือ ต้องการาพัฒนาโปรแกรมเพื่อเผยแพร่ผลงานของตนเองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และทดสอบระบบที่พัฒนาขึ้น ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ลิขสิทธิ์ก็ยังเป็นของบริษัทผู้ผลิตอยู่ ผู้อื่นไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
  • แบบโอเพนซอร์ซ(Open Source)เป็นวิธีการขององค์กรที่มีกลุ่มบุคคลผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ทำการพัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้นำไปใช้ได้ฟรี รวมทั้งสามารถแก้ไขปรับปรุงโปรแกรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับงานของตนได้
หน่วยที่ 4 การใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไป (General Purpose Software)

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไป (General Purpose Software) เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานให้เหมาะสมกับลักษณะงานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ เช่น การจัดพิมพ์รายงาน
การนำเสนองาน การจัดทำบัญชี การตกแต่งภาพ การออกแบบเว็บไซต์ เป็นต้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท ดังต่อไปนี้

1) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล (Database Management Software) คอมพิวเตอร์สามารถใช้จัดเก็บข้อมูลและจัดการกับข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สัมพันธ์กันไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เรียกว่า ฐานข้อมูล (Database) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลเป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่สร้างฐานข้อมูลและจัดการกับข้อมูลให้เป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค้นข้อมูล การปรับปรุงข้อมูล การเพิ่มข้อมูล และการลบข้อมูล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้ เช่น Dbase , Paradox , Foxbase , Microsoft Access เป็นต้น โปรแกรมที่จัดการฐานข้อมูล จะเก็บข้อมูลในรูปแบบของตารางที่มีความสัมพันธ์กันแต่ละตารางจะประกอบด้วยแถวที่เรียกว่า ระเบียน หรือ เรคคอร์ด (Record) และคอลัมน์ที่เรียกว่า ฟิลด์ (Field) แต่ละเรคคอร์ดจะประกอบด้วยฟิลด์ของข้อมูลที่ต้องการเก็บ เช่น ฐานข้อมูลโรงเรียน จะมีการจัดเก็บประวัตินักเรียน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของข้อมูล ได้แก่ เลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล วันเกิด เพศ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์

4-16

ภาพที่ 4.16  โปรแกรม Microsoft Access 2013

2) ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ (Word Processing Software) เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้ในการสร้าง แก้ไข เพิ่ม แทรก ลบ และจัดการรูปแบบเอกสาร ทำให้เอกสารมีรูปแบบที่สวยงาม น่าสนใจ ซึ่งเอกสารที่ผู้ใช้พิมพ์ไว้จะถูกจัดเป็นแฟ้มข้อมูล (File) สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้และสั่งพิมพ์ทางเครื่องพิมพ์ได้ด้วย ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำที่นิยมใช้ เช่น Microsoft Office Word , Adobe Indesign , CorelDraw, WordPerfect , OpenOffice , Pladao Office เป็นต้น

4-17

ภาพที่ 4.17 โปรแกรม Microsoft Word 2013

3) ซอฟต์แวร์ทำการคำนวณ (Calculation Software) เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการคิดคำนวณ การทำงานของซอฟต์แวร์ใช้หลักการเสมือนมีโต๊ะทำงาน ที่มีกระดาษขนาดใหญ่วางไว้ มีเครื่องมือคล้ายปากกา ยางลบ และเครื่องคำนวณเตรียมไว้ให้เสร็จ บนกระดาษมีช่องให้ใส่ตัวเลข ข้อความหรือสูตร สามารถสั่งให้คำนวณตามสูตรหรือเงื่อนไขที่กำหนด นอกจานี้ ผู้ใช้ยังสามารถสร้างกราฟ เพื่อนำเสนอได้อย่างง่ายดาย ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ เช่น Microsoft Office Excel , OpenOffice Cale ในโปรแกรมชุด Pladao Office เป็นต้น

4-18

ภาพที่ 4.18 โปรแกรม Microsoft Excel 2013

4) ซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล (Presentation Software) เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ สร้างเอกสารที่ประกอบด้วยตัวอักษร รูปภาพ แผนผัง ภาพเคลื่อนไหว นิยมใช้ในการนำเสนอข้อมูลในการบรรยายในชั้นเรียนหรือการประชุม ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ เช่น Microsoft Office PowerPoint , OpenOffice Impress , Pladao Office เป็นต้น

4-19

ภาพที่ 4.19 โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2013

5) ซอฟต์แวร์ทางด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย (Graphics and Multimedia Software) เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยทำงานด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย เช่น ตกแต่งภาพ วาดรูป ปรับเสียง ตัดต่อภาพเคลื่อนไหว สร้างสรรค์งานสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการสร้างและออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ ให้มีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย เหมาะสมกับสื่อแต่ละประเภท เป็นโปรแกรมที่ง่ายต่อการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีลูกเล่นหลากหลาย สามารถสั่งงานตามความต้องการได้ง่าย ซึ่งถือเป็นโปรแกรมหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทุกระดับ

4-20

ภาพที่ 4.20 โปรแกรม Adobe Premiere Pro

6) ซอฟต์แวร์การใช้งานบนเว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร (Web Site and Communications Software) เป็นโปรแกรมที่พัฒนาเพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้มีผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้งานเฉพาะอย่างเพิ่มขึ้น เช่น โปรแกรมสำหรับตรวจสอบอีเมล์ การท่องเว็บไซต์ การจัดการและดูแลเว็บไซต์ การส่งข้อความ รวมถึงการประชุมทางไกลผ่านเครือข่าย เป็นต้น

4-21

ภาพที่ 4.21 โปรแกรม Skype

หน่วยที่ 4 การใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน (Application Software for Specific Purpose)

ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน (Application Software for Specific Purpose)  เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ ออกแบบและสร้างขึ้นโดยผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีความชำนาญงานในด้านนั้น หรือพัฒนาโดยบุคลากรฝ่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรนี้ก็ได้ โดยผ่านการวิเคราะห์ ออกแบบ ลงมือสร้าง และทดสอบโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ถูกต้องก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ เช่น โปรแกรมคำนวณภาษีของกรมศุลกากร โปรแกรมฝากถอนเงินของธนาคาร โปรแกรมระบบสินค้าของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ภาพที่ 4.15  ตัวอย่างซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน
ที่มา  http://amporn.wikispaces.com/FreshyIV
ที่มา  http://u53812802003.blogspot.com/2013_12_01_archive.html

หน่วยที่ 4 การใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application software)

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application software) หมายถึง โปรแกรมที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานเฉพาะอย่างตามความต้องการของผู้ใช้ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ได้รับความนิยม เช่น โปรแกรมประมวล
ผลคำ โปรแกรมคำนวณ โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล โปรแกรมค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน (Application Software for Specific Purpose)
  • ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไป (General Purpose Software)

 

หน่วยที่ 4 การใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

ตัวแปลภาษา

ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแปลภาษาระดับสูง เพื่อแปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีหลายภาษา ภาษาระดับสูงเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนโปรแกรมเขียนชุดคำสั่งได้ง่าย เข้าใจได้ ตลอดจนถึงสามารถปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ในภายหลังได้

ภาษาระดับสูงที่พัฒนาขึ้นมาทุกภาษาจะต้องมีตัวแปลภาษาสำหรับแปลภาษา ภาษาระดับสูงซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากในปัจจุบัน เช่น ภาษาปาสคาล ภาษาเบสิก ภาษาซี และภาษาโลโก

  • ภาษาปาสคาล เป็นภาษาสั่งงานคอมพิวเตอร์ที่มีรูปแบบเป็นโครงสร้าง เขียนสั่งงานคอมพิวเตอร์เป็นกระบวนความ ผู้เขียนสามารถแบ่งแยกงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วมารวมกันเป็นโปรแกรมขนาดใหญ่ได้
  • ภาษาเบสิก เป็นภาษาที่มีรูปแบบคำสั่งไม่ยุ่งยาก สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย มีรูปแบบคำสั่งพื้นฐานที่สามารถนำมาเขียนเรียงต่อกันเป็นโปรแกรมได้
  • ภาษาซี เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่น ๆ ภาษาซีเป็นภาษาที่มีโครงสร้างคล่องตัวสำหรับการเขียนโปรแกรมหรือให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • ภาษาโลโก เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเข้าใจหลักการโปรแกรมภาษาโลโกได้รับการพัฒนาสำหรับเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีภาษาคอมพิวเตอร์อีกมากมาย เช่น ภาษาฟอร์แทรน ภาษาโคบอล ภาษาอาร์พีจี ภาษาจาวา

การทำงานของตัวแปลภาษา

การประมวลผลโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาระดับสูง จำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมที่ทำหน้าที่ช่วยในการแปลโปรแกรมภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมแปลภาษาที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1) คอมไพเลอร์ (Compiler) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงที่เรียกว่า โปรแกรมต้นฉบับ (source code/program) ให้เป็นโปรแกรมภาษาเครื่อง (object program) ถ้ามีข้อผิดพลาดเครื่องจะพิมพ์รหัสหรือข้อผิดพลาดออกมาด้วย หากไม่มีข้อผิดพลาดผู้ใช้สามารถสั่งประมวลผลโปรแกรมและสามารถเก็บโปรแกรมที่แปลภาษาเครื่องไว้ใช้งานต่อไปได้อีก โดยไม่ต้องทำการแปลโปรแกรมซ้ำอีก

ตัวอย่างโปรแกรมแปลภาษาแบบนี้ เช่น โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรน โปรแกรมแปลภาษาปาสคาล โปรแกรมแปลภาษาซี เป็นต้น

2) อินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเช่นเดียวกับคอมไพเลอร์ ความแตกต่างจะอยู่ที่อินเทอร์พรีเตอร์จะทำ
การแปลและประมวลผลทีละคำสั่ง ข้อเสียของอินเทอร์พรีเตอร์ คือ ถ้านำโปรแกรมนี้มาใช้งานอีกจะต้องทำการแปลโปรแกรมทุกครั้ง

ตัวอย่างภาษาที่ใช้อินเทอร์พรีเตอร์ในการแปล เช่น ภาษา HTML เป็นต้น